ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาออนไลน์ ส่องอนาคตการเมืองไทยเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน


         เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ “ส่องอนาคตการเมืองไทยเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” โดยเป็นการนำเสนอผลการศึกษาจากงานวิจัยชุดใหญ่    “เรื่อง การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ชุดย่อย ใน 3 มิติ ได้แก่ มิติของสถาบันการเมือง มิติของพรรคการเมือง และมิติของการเมืองภาคพลเมือง ผลจากการศึกษาในงานวิจัยมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจที่ได้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อร่วมกันพิจารณา วิเคราะห์ว่า อนาคตของประเทศไทยในเรื่องการเมืองจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เป็นการสัมมนาออนไลน์ ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

        พิธีเปิดการสัมมนาได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวต้อนรับคณะวิทยากร นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาจากงานเรื่อง การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับภารกิจหลักของสถาบันพระปกเกล้าที่ให้ความสำคัญกับการสร้างและสะสมองค์ความรู้จากข้อค้นพบในการศึกษาวิจัย เพื่อที่จะได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวไปปรับปรุงและพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเติมเต็มความสมบูรณ์ของงานวิจัย อีกทั้งยังเป็นข้อเสนอที่จะทำให้ประเทศไทยมีการเมืองที่พึงประสงค์อย่างไรต่อไป  จากนั้น เป็นการกล่าวภาพรวมและที่มาของโครงการ โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา) เกี่ยวกับงานวิจัยทั้ง 3 มิติ ข้างต้น กระบวนการ ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินโครงการวิจัย และเวทีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยทั้ง 3 มิติ ดังนี้

       งานวิจัย เรื่อง “การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ในมิติของสถาบันการเมือง” (รัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา) นำเสนอโดย รศ.ตระกูล มีชัย (รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และคุณชุมพูนุท ตั้งถาวร (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า) งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการบริหารราชการโดยการตั้งกระทู้ถามของสภาผู้แทนราษฎรต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ศึกษาบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการควบคุมการบริหารราชการ โดยการเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รวมทั้งศึกษากระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภาว่ามีกระบวนการอย่างไร และมีองค์กรใดที่เกี่ยวข้อง 

**การศึกษาวิจัย เรื่อง บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการควบคุมฝ่ายบริหาร มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • การตั้งกระทู้ถามและญัตติ (ช่วงพ.ศ. 2475 – พ.ศ.2540)
  • การตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา และกระทู้ถามแยกเฉพาะ (ช่วง พ.ศ.2540 – พ.ศ.2563)
  • การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ 

         การศึกษาวิจัย เรื่อง กระบวนการนิติบัญญัติ มีประเด็นที่น่าสนใจ  พบว่า กฎหมายส่วนใหญ่ยังเริ่มมาจากระบบราชการแทนที่จะเริ่มจากประชาชนหรือรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งระยะสั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลรวดเร็ว เช่น การกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณารับรองร่างกฎหมาย เป็นต้น การแก้ปัญหาระยะยาว คือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจถึงหน้าที่ที่แท้จริงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ว่ามีหน้าที่หลักเกี่ยวกับงานนิติบัญญัติในรัฐสภา และสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนเข้าสู่รัฐสภาได้อย่างแท้จริง

      งานวิจัย เรื่อง “มองไปข้างหน้า อนาคตพรรคการเมืองไทย” นำเสนอโดย คุณปุรวิชญ์ วัฒนสุข (นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า) งานวิจัยเป็นการศึกษาและวิเคราะห์พัฒนาการของพรรคการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง รวมทั้งวางเป้าหมายของพัฒนาของพรรคการเมืองที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการศึกษาแบบการวิเคราะห์เอกสาร และวิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายพรรคการเมืองที่ผ่านมาในอดีต การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้เสียจากกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ 

ซึ่งมีแนวทางการศึกษาวิจัย ได้แก่

  • พัฒนาการของพรรคการเมืองไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ปัญหาของพรรคการเมืองไทย
  • พรรคการเมืองไทยในอนาคต

งานวิจัย เรื่อง “การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน : การเมืองภาคพลเมือง”  นำเสนอโดย ผศ.ทศพล สมพงษ์ (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพระปกเกล้า) และคุณนุชประภา โมกข์ศาสตร์ (นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า)   ศึกษาและวิเคราะห์พัฒนาการของการเมืองภาคพลเมือง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน และศึกษาคาดการณ์แนวโน้มการเมืองภาคพลเมืองในอนาคต รวมทั้งศึกษาแนวทางพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อการเมืองภาคพลเมืองในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาได้เป็น 2 ประเด็น คือ 

  • ประเด็นแรก พัฒนาการการเมืองภาคพลเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน
  • ประเด็นที่สอง ฉากทัศน์ความเป็นพลเมืองและการเมืองภาคพลเมือง

ซึ่งมีประเด็นข้อเสนอแนะสำหรับการเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมือง ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน

  • กระจายอำนาจให้ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบายให้กับประชาชน รวมทั้งการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นบนพื้นฐานของการพัฒนาเชิงพื้นที่
  • กฎหมายส่งเสริมการรวมตัวกันทางสังคมและกฎหมายส่งเสริมภาคประชาสังคม
  • ให้ความรู้การรู้เท่าทันสื่อ
  • ยกเลิกกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และออกกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะเพื่อให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนทุกกลุ่ม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว

  • ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองในทุกระดับ
  • เสริมสร้างบทบาทของสถาบันภาคประชาสังคมและสถาบันเอกชน ให้มีส่วนร่วมกับรัฐอย่างเป็นรูปธรรม
  • ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาเสวนาหาทางออกในการแก้ปัญหาบริหารจัดการประเทศ
  • ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการตรวจสอบอำนาจรัฐ การพัฒนากฎหมายและกลไกการมีส่วนร่วมสาธารณะ 

        สรุปผลและปิดการสัมมนา โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา) ประชาชนจะมีความรู้มากขึ้น มีการตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น พรรคการเมืองมีความเป็นนายทุน เป็นพรรคเฉพาะกิจ ทิศทางที่ดีขึ้นคือเริ่มใส่ใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น พลเมืองจะเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นพลเมืองดิจิทัลมากขึ้น

ภาพรวมการเมืองไทย 4 ประเภท 

  1. การเมืองที่นำโดยระบบรัฐสภา ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจได้ เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีจริยธรรม มีธรรมาภิบาล
  2. การเมืองที่นำโดยระบบบริหาร  คำนึงถึงผลประโยชน์และอำนาจ
  3. การเมืองที่นำโดยพลเมือง พลเมืองเป็นใหญ่ ตื่นรู้ทางการเมือง เกิดวัฒนธรรมประชาธฺปไตย มีการกระจายอำนาจถึงฐานราก
  4. การเมืองเชิงสมดุล เป็นการสร้างการเมืองที่เป็นปึกแผ่น มีธรรมาภิบาล เน้นสันติสุข เป็นประชาธิปไตย

     ในช่วงสุดท้ายของงานสัมมนาเป็นการวิพากษ์ผลงาน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณนิกร จำนง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา) คุณรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์) รศ.ดร.นิยม  รัฐอมฤต (ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ สถาบันพระปกเกล้า) และ รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร (ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง)


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า