ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เวทีสัมมนาสาธารณะ ประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์ ฉันทามติในสังคมภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม


         เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพระปกเกล้า และความร่วมมือจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และ Research Center on Direct Democracy จัดกิจกรรมร่วมกันคือ เวทีสัมมนาสาธารณะ  เรื่อง “ประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์: ฉันทามติในสังคมภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” เพื่อเป็นการบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นของการเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรงผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

        เวทีสาธารณะครั้งนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยการกล่าวต้อนรับโดย นางพรพิศ เพชรเจริญ (เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) และ นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ (รองเลขาธิการวุฒิสภา ) ขอบคุณความร่วมมือของผู้ร่วมจัดงาน ทั้ง สถาบันพระปกเกล้า สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และ Research Center on Direct Democracy ที่ให้ความร่วมมือในการถอดบทเรียนจากองค์ความรู้ในด้านของหลักการ และประสบการณ์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีความหลากหลายทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่รัฐสภามีความเป็นประชาธิปไตยเชิงสถาบัน โดยเฉพาะในเรื่องประชาธิปไตยทางตรงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม   ต่อจากนั้น เป็นการกล่าวต้อนรับและเปิดสัมมนาโดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) โดยมุ่งเน้นที่ประเด็นความสำคัญของประชามติในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั่วโลก เพื่อเสริมกับความเป็นตัวแทนของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชาธิปไตยทางตรงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เจตจำนงของประชาชนได้แสดงออกมาผ่านการทำประชามติ ขณะที่พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยนั้นเน้นเป็นประชาธิปไตยเชิงหารือ ตลอดจนมีการนำเสนอประชาธิปไตยผ่านการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบทางนโยบายอย่างทั่วถึงและครบถ้วน   ดังนั้น บทเรียนที่จะได้รับจากงานสัมมนาสาธารณะกรณีศึกษาประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงมีความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดประชาธิปไตยด้วยประสบการณ์อันมีค่าของประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาทางออกให้แก่วิกฤตการเมืองในประเทศไทยต่อไป

        การบรรยายของเวทีสาธารณะได้เริ่มต้นขึ้นในหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเมืองของระเทศสวิตเซอร์แลนด์” โดย H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda (เอกอัครราชทูตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ท่านเอกอัครราชทูตเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ลักษณะพิเศษทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่มีใครมีอำนาจโดยสัมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ประสบการณ์ทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์จึงค่อนข้างยากจะคล้ายกับประเทศใดและยากที่จะลอกเลียนรูปแบบการปกครองไปใช้ทั้งหมด ประกอบกับความหลากหลายของภาษาถึง 4 ภาษาหลัก โดยมีภาษาสวิตเซอร์แลนด์-เยอรมันเป็นภาษาหลักอันดับหนึ่ง หรือความหลากหลายทางศาสนา เป็นต้น โดยปัจจุบันถือว่าสิ่งที่เป็น 3 เสาหลักที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ เสาแรกคือ ระบบสหพันธรัฐ, เสาที่สองคือ ระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดอำนาจทางการเมือง และเสาที่สามคือ การรักษาความเป็นกลางจากประเทศยุโรปอื่นๆ รอบข้าง สวิตเซอร์แลนด์เองจึงเผชิญกับปัญหาหลากรูปแบบทั้งการรักษาความเป็นกลางในช่วงสงคราม หรือการวางนโยบายต่างประเทศให้มีความเป็นกลาง แต่ยืนข้างความเป็นธรรมในการสนับสนุนหลักมนุษยธรรมท่ามกลางแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์  รัฐบาลแบบสหพันธรัฐของสวิตเซอร์แลนด์มี 3 ระดับ ได้แก่ รัฐบาลกลาง, การปกครองระดับจังหวัด และการปกครองระดับเทศบาล โดยจะเน้นการกระจายอำนาจให้มากที่สุด ควบคู่กับการมอบอำนาจการบริหารจัดการให้เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้น อาทิ การรับมือโรคระบาดโควิด (COVID-19) ที่จำเป็นต้องแบ่งอำนาจบริหารควบคุมโรคให้เหมาะกับพื้นที่ บางพื้นที่สามารถคุมในระดับเทศบาลได้ดีกว่า หรือบางพื้นที่อาจเหมาะกับการคุมในระดับจังหวัดเป็นภาพรวมมากกว่า หรือระบบการศึกษาที่ให้อำนาจกำหนดการศึกษาให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหลักที่ใช้ในสถานศึกษา หรือระยะเวลาที่เหมาะสมในการศึกษา  เป็นต้น  นอกจากนั้น การประนีประนอมทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์พึงรักษาไว้เสมอเพื่อให้ได้ระบบการถ่วงดุลอำนาจที่สร้างดุลยภาพให้แก่การเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ สูตรการจัดรัฐบาลของสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นลักษณะเฉพาะ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลจะเน้นประนีประนอมความคิดเห็นที่หลากหลายจาก 12 พรรคการเมืองเพื่อกำหนดทิศทางการตัดสินใจสาธารณะบนฐานคิดเรื่องความเป็นหนึ่ง่ามกลางความคิดหลากหลาย แล้วยังมีประธานาธิบดีที่มีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี 

       ทั้งนี้ ประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์ส่งผลให้พลเมืองจำเป็นต้องมีความตื่นตัวทางการเมืองอยู่เสมอ กล่าวได้ว่า 1 ปีมีประชามติให้ไปลงคะแนนอย่างน้อย 4 ครั้งเพื่อตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทางการเมือง นอกจากนั้นยังมีประชามติในประเด็นหลากหลายให้พลเมืองชาวสวิตเซอร์แลนด์มาลงคะแนนอยู่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ประชามติเพื่อแสดงความเห็นชอบให้เพิ่มจำนวนวันหยุดราชการ, ประชามติความเห็นชอบในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือประชามติการเพิ่มภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มเบี้ยบำนาญผู้เกษียณอายุ เป็นต้น  หลังจากนั้น จึงเข้าสู่ช่วงการบรรยายสาธารณะเรื่อง “ประชาธิปไตยในสวิตเซอร์แลนด์: ฉันทามติในสังคมภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” โดย Prof. Dr. Daniel Kübler‬ จาก Research Center on Direct Democracy ‬ในประเด็นของการเมืองการปกครองในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้บรรยายเริ่มต้นด้วยการนำเสนอความตื่นตัวของชาวสวิตเซอร์แลนด์ในการใช้สิทธิลงคะแนนมากที่สุดในยุโรป ข้อสังเกตคือ ท่ามกลางประชาธิปไตยทางตรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก สวิตเซอร์ถือเป็นที่หนึ่งในการใช้สิทธิทางการเมืองทางตรง ผู้บรรยายจึงได้นำเสนอ “การทำประชามติภาคบังคับ” ในฐานะจุดเด่นที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีประชาธิปไตยทางตรงที่เข้มแข็งเช่นนั้น  ‬หลักการพื้นฐานในการทำประชามติภาคบังคับจำเป็นต้องยื่นขอแก้ไขผ่านเสียงข้างมากเพื่อขอทำประชามติภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นระหว่างประเทศ เช่น การเข้าร่วม-ออกจากองค์การระหว่างประเทศใดๆ เป็นต้น ทำให้การลงคะแนนจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงจากทุกจังหวัดรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทุกจังหวัด ซึ่งสะท้อนว่าเสียงข้างมากของประชาชนมีความสำคัญในทุกการบังคับใช้นโยบายสาธารณะของรัฐ กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า “popular initiative” (การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน) ซึ่งริเริ่มด้วยการใช้ 1 แสนรายชื่อเข้าเสนอภายใน 18 เดือน เพื่อขอทำประชามติในประเด็นใดก็ตาม ทั้งนี้แม้ว่ารัฐสภาจะสามารถปฏิเสธกระบวนการ Popular Initiative ทว่ากรณีในอดีตนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากจะปฏิเสธแต่ประเด็นที่สุดโต่งเกินไปเท่านั้น  ในทางปฏิบัติ ประชามติที่เป็นประเด็นวาระหลักของชาติค่อนข้างมีการต่อต้านน้อย ขณะที่ประเด็นทางเลือกจะค่อนข้างมีความตึงเครียดในระดับหนึ่ง อาทิ การเสนอทำประชามติเรื่องการต่อต้านการตัดเขาวัว หรือการทำประชามตินโยบายลดโลกร้อน เป็นต้น ประเด็นทางเลือกในข้างต้นมีการถกเถียงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านอย่างชัดเจน ทว่าในที่สุดแล้วก็สามารถผ่านประเด็นเหล่านี้ไปได้แม้ว่าบางครั้งจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม อาทิ ประชามติประเด็นเห็นชอบหรือไม่ที่จะผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเสรี ประเด็นดังกล่าวแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันในทางความเชื่อของศาสนา แต่ไม่ว่าอย่างไรประชามติก็ลงคะแนนให้เห็นชอบร่างกฎหมายการยุติครรภ์เสรีได้ในท้ายที่สุด 

       อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของความก้าวหน้าในการนำเสนอนโยบายบางครั้งกลับส่งผลให้มีแรงต้านมากกว่าที่รัฐสภาประมาณการณ์ อาทิ กรณีศึกษาการทำประชามติเรื่องนโยบายการลดโลกร้อนที่ทำให้กระแสต่อต้านจากสังคมสูง ส่งผลให้นวัตกรรมทางการเมืองในการมีส่วนร่วมโดยตรงกลับกลายเป็นสิ่งที่ต่อต้านการทำงานของรัฐสภาไม่ให้ดำเนินการโดยสะดวกในบางประเด็นสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีการทำประชามติที่ส่งผลอย่างสูงต่อการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การลงประชามติคัดค้านการเข้าร่วมสหประชาชาติ หรือการลงประชามติปฏิเสธการเข้าร่วมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้แนวทางแก้ไขเบื้องต้นจากกรณีศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์คือ การดึงฝ่ายค้านเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อร่วมร่างกฎหมาย เช่น การดึงพรรคคาทอลิก หรือพรรคชาวนา เข้าร่วมเพื่อลดแรงเสียดทานจากฝ่ายที่คัดค้านร่างกฎหมาย เป็นต้น นอกจากนี้วิธีการปรึกษาหารือกลุ่มผลประโยชน์ก่อนจะเขียนร่างกฎหมายก็เป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งได้ดี   ท้ายที่สุด ผลลัพธ์โดยรวมของความเป็นประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์คือ ความตื่นตัวในการลงคะแนนประชามติเพื่อแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายหรือการกระทำทางการเมืองของรัฐ แม้ว่าจะส่งผลให้เกิดผลกระทบย้อนกลับบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอย่างล่าช้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ หรือการต่อต้านการเข้ามร่วมในนโยบายต่างประเทศ ทว่าผลในทางบวกที่ตามมาคือ การประนีประนอมระหว่างความหลากหลายทางการเมือง หรือเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ ทว่าจากประสบการณ์ของการมีประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีอย่างน้อยสองเงื่อนไขในการเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรง ได้แก่ เงื่อนไขแรกคือจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารเพื่อควบคุมกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเงื่อนไขที่สองคือ ประชาชนจำเป็นต้องได้รับความเป็นประชาธิปไตยในการร่วมลงคะแนนเสียงแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรีอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนที่ได้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงตามหลักประชาธิปไตยจนกระทั่งความตื่นตัวทางการเมืองกลายเป็นความปกติของสังคมการเมือง แล้วก็จะนำมาสู่การหล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยทางตรงในประเทศมีความเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป   

        ในช่วงสุดท้ายมีคำถามจำนวนมากจากทางผู้ฟังที่สนใจตั้งคำถามจากประเด็นบรรยายของวิทยากร ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณกับการจัดทำประชามติ ผู้บรรยายมองว่าการสร้างคุณค่าให้แก่ประชาธิปไตยทางตรงถือว่ามีคุณค่ากับประเทศมากกว่าค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการสร้างสำนึกความเป็นประชาธิปไตยของชาวสวิตเซอร์แลนด์ หรือประชาธิปไตยทางตรงเหมาะกับประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางแบบไทยหรือไม่ ผู้บรรยายอธิบายว่าสวิตเซอร์แลนด์มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้สามารถใช้งบประมาณเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยได้อยู่เสมอ

 

 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า