ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สัมมนาวิชาการ Democracy talk series Phenomenon in the World of Democracies ปรากฎการณ์ในโลกประชาธิปไตย


       เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564  วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการ Democracy talk series : Phenomenon in the World of Democracies ปรากฎการณ์ในโลกประชาธิปไตย EP.8 “ชิลี: การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ” ทาง Facebook สถาบันพระปกเกล้า วิทยากรโดย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ อาจารย์สิเรมอร (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดำเนินรายการโดย อาจารย์ปุรวิชญ์ วัฒนสุข  (นักวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า) ร่วมดำเนินรายการ

      ชิลีอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนับตั้งแต่นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนฝ่ายซ้ายที่ดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม รัฐบาลทหารของนายพลปิโนเชต์ได้สร้างมรดกทางการเมืองและเศรษกิจที่สำคัญไว้ 2 อย่าง ได้แก่ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1980 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสูง มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้น้อย และให้อำนาจนายพลปิโนเชต์แต่งตั้งพรรคพวกเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ และนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) มาใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Chicago Boys 

      ภายใต้การปกครองของนายพลปิโนเชต์ เศรษฐกิจชิลีเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ก็ได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในชิลีสูงมากจนถึงปัจจุบัน จุดเปลี่ยนสำคัญคือการลงประชามติ 1988 เมื่อครบ 8 ปีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 1980 ที่ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าเห็นชอบให้นายพลปิโนเชต์อยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ผลกลับกลายเป็นว่า ฝ่ายนายพลปิโนเชต์ต้องพ่ายแพ้ และต่อมาก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี 1990  ลักษณะเด่นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในชิลี คือ การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ ระหว่างสังคมนิยมกับอนุรักษ์นิยม, แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ สลับไปมาระหว่างการเป็นรัฐเหนือตลาดกับการเน้นตลาดเหนือรัฐ และบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการแทรกแซงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในชิลีสำเร็จ ได้แก่ การประนีประนอมระหว่างกลุ่มการเมืองต่างขั้ว การผสานกำลังของฝั่งเดียวกัน และการแสดงพลังของกลุ่มในสังคม, การมีผู้นำทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มที่หลากหลาย, และการยอมเสียเปรียบในกติกาเพื่อให้เกิดการประนีประนอมขึ้น เช่น ระบบเลือกตั้ง, การให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งจากกองทัพและระบบราชการ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, และรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติทำให้แก้ไขยาก การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในชิลีจึงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

       อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2019 จากการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน ได้กลายเป็นชนวนการต่อต้านและผลักดันไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองอีกครั้ง ถึงแม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามประนีประนอมโดยเสนอว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เป็นผล ในท้ายที่สุด พรรคการเมืองต่างให้สัตยาบันเสนอให้มีการลงประชามติใหม่ นำมาสู่การลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 2020 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2021 จึงมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลปรากฎว่าไม่มีพรรคการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาได้เสียงส่วนมาก แต่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลีมีระยะเวลาการดำเนินการ 9 และจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่อีกครั้งในปี 2022 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลีนี้จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญว่าชิลีจะประสบความสำเร็จในการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่

สามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ที่   https://fb.watch/v/3dqxVYSpK/ 

       ปรากฎการณ์ก่อนส่งท้าย เดือนกรกฎาคม ครั้งที่ 9 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564   สถานการณ์ที่รุมเร้า สหรัฐอเมริกา : สู่ความถดถอยของประชาธิปไตย?” จะเกิดปรากฏการณ์อย่างไรต่อไปต่อประชาคมโลก กับ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู (ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า) และ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)   

       การสัมมนาวิชาการออนไลน์ Democracy Talk Series: Phenomenon in the World of Democracies ปรากฏการณ์ในโลกประชาธิปไตย จะดำเนินการจัด ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30 - 15.15 น. ผ่านทางเพจ Facebook สถาบันพระปกเกล้า จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม นี้ 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า