ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ: วาระเร่งด่วนแห่งชาติในการแสวงหาเครื่องมือเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชน


          เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ: วาระเร่งด่วนแห่งชาติในการแสวงหาเครื่องมือเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชน ณ ห้องสัมมนา b1-2 ชั้น b1 อาคารรัฐสภา เกียกกาย (ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร) โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรฝ่ายนิติบัญญัติได้แก่ สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมาธิการ บุคลากรในวงงานของรัฐสภา ตลอดจนผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ  ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้รับทราบแนวทาง และเครื่องมือ

          ในการจัดการปัญหานี้ผ่านกระบวนการทางด้านนิติบัญญัติ โดยเราคาดหวังว่างานสัมมนา ในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่จะเพิ่มความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบังคับใช้กลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนต่อไปได้

          กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการ โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล  รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ โดย พลเอก สุรศักดิ์  กาญจนรัตน์  ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

บรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ : มุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ กติกาสากล และแบบอย่างที่ดีในการจัดการแก้ไขปัญหา
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์  ปิวาวัฒนพานิช  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

  • นำเสนอฉากทัศน์ที่ 1 การวิเคราะห์เชิงประเด็นรากเหง้าปัญหามลพิษทางอากาศ แนวทางและกลไกการจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในแต่ละกรณี โดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน วุฒิสภา
  • นำเสนอฉากทัศน์ที่ 2 การตราพระราชบัญญัติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดโครงสร้างระบบและกลไกเพื่อควบคุมแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมุ่งคุ้มครองสิทธิในชีวิตและสุขภาพของประชาชน  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาชัย  สุนทรอนันตชัย คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • นำเสนอฉากทัศน์ที่ 3  การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซักถาม แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะ วิทยากรตอบข้อซักถามผู้เข้าร่วมสัมมนา 

          ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้า  โดยนางสาวธีรพรรณ ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา ทีมนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม คาดหวังว่าจะเป็นสื่อกลางในการนำส่งแนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายและกฎหมาย เกิดการตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อม และความจำเป็นในการแสวงหากลไกรูปธรรมในการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยกระดับการรับรู้ปัญหาและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันแก้ไข เพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและสุขภาพของประชาชน  


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า