หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2566 สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และทีมนักวิชาการ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง ธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของประชาชน : นโยบายและการดำเนินการตามนโยบายน้ำในประเทศไทยและเวียดตาม จ.อุบลราชธานี
โดยมีกิจกรรมการสนทนากลุ่มกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายการวิจัย ได้แก่ กลุ่มภาครัฐ-เอกชน-สื่อ-วิชาการ-ประชา สังคม กลุ่มภาคประชาสังคมบ้านตามุย ณ โฮงเฮียนฮักแม่น้ำของ บ้านตามุย และกลุ่มภาครัฐ-ท้องถิ่น ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะ ร่วมสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มเพื่อเป็นข้อมูลในโครงการวิจัยด้วย
ที่มาโครงการวิจัย: ธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate governance เป็นกระบวนการการป้องกัน (Prevention) ผ่อนปรน (Mitigation) และปรับตัว (Adaptation) เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในบริบทของการวิจัย มีความจำเป็นในการศึกษาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลสภาพแวดล้อมในประเทศไทย เวียดนาม และลุ่มน้ำแม่โขง ในประเด็นที่เกี่ยวกับกลไก การแบ่งแยกอำนาจ การสื่อสาร การดำเนินการของรัฐบาลท้องถิ่น และการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ในการศึกษาเชิงกลไกนั้น ยังมีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อสำรวจและยกระดับกลไกที่จะจัดการกับปัญหา ว่าด้วยการผ่อนปรนและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจควรเป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ต่อนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ส่วนเรื่องการสื่อสารควรเป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อทำเป้าหมายของนโยบายสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ ได้กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ท้าทายในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยและเวียดนาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนมากมาย ความไร้ประสิทธิภาพหรือขาดธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่สุด ว่าเหตุใดจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและน้ำแบบบูรณาการในประเทศไทยและเวียดนามได้ ภาครัฐไทยพยายามดำเนินการตามมาตรการที่มีอยู่ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม