หน้าแรก | ข่าวสาร
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา และสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ มูลนิธิเวสต์มินสเตอร์เพื่อประชาธิปไตย Westminster Foundation For Democracy (WFD) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐสภาผ่านการสนับสนุนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบหลังการตรากฎหมายParliament Strengthening Programme in Thailand : Using Post-Legislation Scrutiny โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสมใบ มูลจันที ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวต้อนรับผู้เข้ารับการอบรม
ซึ่งการอบรมดังกล่าวเป็นรูปแบบ Classroom และ Group work วิทยากรหลัก โดย Mr. Agus Wijayanto Indonesia Country Director of the Westminster Foundation for Democracy คุณเกศชฎา พรหมจรรย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเวสต์มินเตอร์เพื่อประชาธิปไตย สำนักงานประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวธีรพรรณ ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา และทีมนักวิชาการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินกระบวนการจัดอบรมตลอดทั้ง 2 วัน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของมูลนิธิฯ สำนักงานประเทศไทยสำหรับปี 2024 – 2025 ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐสภาในประเทศไทยผ่านวิธีการตรวจสอบหลังการออกกฎหมาย (Post-Legislative Scrutiny - PLS) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพของรัฐสภาในการปรับปรุงคุณภาพของการออกกฎหมายและเพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภา รวมถึงการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านการทำ PLS Assessment เบื้องต้น นอกจากนี้ มูลนิธิฯ เห็นถึงความสำคัญในการร่วมงานกับรัฐสภาไทยเป็นสมาชิก Inter Parliamentary Union (IPU) มีแต่ละประเทศสมาชิกต้องดำเนินงานให้บรรลุตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของ IPU เกี่ยวกับการสร้างกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐสภาเป็นประชาธิปไตย (ภายใต้มิติตัวชี้วัดที่ 1.6.7 การตรวจสอบหลังการออกกฎหมาย) ดังนั้น โครงการนี้จึงพยายามที่จะสร้างผลลัพธ์และส่งต่อองค์ความรู้ที่จะทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องของรัฐสภาไทย ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาของแต่ละคณะกรรมาธิการ เจ้าหน้าที่กฎหมายของแต่ละคณะกรรมาธิการ ผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภา มีส่วนร่วมและมีความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการ PLS เพื่อให้เข้าใจกลไกในการติดตามการดำเนินการของกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
#สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา #สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย #สถาบันพระปกเกล้า