หน้าแรก | ข่าวสาร
ระหว่างวันที่ 19 และวันที่ 20 ธันวาคม 2567 สถาบันพระปกเกล้า ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจาก China National Academy of Governance (CNAG) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
โดยวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนะวุฒิ รองเลขาธิการ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต ที่ปรึกษาเลขาธิการด้านต่างประเทศ นางกาญจนา ศรีปัดถา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และนางสาวธีรพรรณ ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา ให้การต้อนรับ คณะผู้แทนจาก China National Academy of Governance (CNAG) สาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย H.E. LI Wentang Vice President (Deputy Ministerial Level) เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้บันทึกความร่วมมือที่ดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งล่าสุดผู้แทนสถาบันพระปกเกล้าได้มีโอกาสร่วมงาน ASEAN Academies of Governance and Public Administration and Think-tanks Seminar ที่ทาง CNAG ได้จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยจากการสนทนาร่วมกัน นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ และ H.E. LI Wentang ได้เห็นชอบในการดำเนินงานวิชาการร่วมกันทั้งการจัดประชุมวิชาการ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดบรรยายทางวิชาการ การจัดฝึกอบรมให้แก่ข้าราชการของทั้งไทยและจีน การแลกเปลี่ยนสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือทางวิชาการ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ต่อไป
จากนั้น ทางคณะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า และ “นิทรรศการสืบศิลป์ ดนตรี นาฏกรรม จากแผ่นดินพระปกเกล้า” ซึ่งได้รับความสนใจขสกคณะผู้แทน CNAG เป็นอย่างมาก
สำหรับ วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมรำไพพรรณี สถาบันพระปกเกล้า นำโดย รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนะวุฒิ รองเลขาธิการ นางสาวธีรพรรณ ใจมั่น ผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา นายภควัต อัจฉริยปัญญา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น นางณัชชาภัทร อมรกุล รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และนางธนิษฐา สุขะวัฒนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมหารือกับ CNAG อาทิ คณะจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. นำโดย นางจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะจาก WeVis : We Visualize Data for Democracy นำโดย นางสาวธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้แทนจาก HAND Social Enterprise, Thailand นายณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม จากการประชุมหารือในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นแนวทางของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐประศาสนศาสตร์โดยใช้หลักการ National Governance รวมถึงประเด็นด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นที่ใช้หลักการ “3 ไม่” นั่นคือ (1) ไม่อยาก คือ การสร้างค่านิยมที่ทำให้คนไม่อยากจะกระทำการทุจริต (2) ไม่กล้า คือ การใช้มาตรการณ์การปราบปรามจนคนไม่กล้ากระทำ และ (3) ไม่สน คือ ไม่สนว่าจะเป็นใครก็ต้องไม่กระทำทุจริต นอกจากนี้ประเด็นด้านการจัดการทางธรรมาภิบาล ประเด็นด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน ประเด็นการสร้างความน่าเชื่อถือจากประชาชน และประเด็นการสร้างค่านิยมที่ดี ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ทั้งสองประเทศสามารถนำมาร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการได้อย่างมากมาย นับเป็นก้าวสำคัญของการทำงานวิชาการเพื่อเป็นโอกาส และเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศต่อไป
ในการมาเยือนประเทศไทยของ China National Academy of Governance (CNAG) ระหว่าง 17 – 20 ธันวาคม 2567 สถาบันพระปกเกล้าได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับการมาเยือน พร้อมทั้งนำคณะเข้าพบหน่วยงานสำคัญ อาทิ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย-จีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์อีกด้วย
#สถาบันพระปกเกล้า