ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า และเครือข่ายสื่อมวลชน จัดเสวนา “เลือกตั้ง อบจ. อำนาจท้องถิ่นในมือคุณ”


           เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “เลือกตั้ง อบจ. อำนาจท้องถิ่นในมือคุณ” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณ ร่วมเสวนา ได้แก่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, ร.ต.อ. มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินรายการโดย คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส และคุณมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ ห้องสัมมนา 3 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยสาระสำคัญของการเสวนา กล่าวถึง การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะจัดให้มีขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังจากห่างหายไปเกือบ 8 ปี 

          รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล กล่าวถึง ความสำคัญของบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ยุคสมัยเริ่มต้นของการกระจายอำนาจ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการส่วนกลาง จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ “การกระจายอำนาจ”

          การเลือกตั้งท้องถิ่น มีประเด็นน่าสนใจ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอยู่หลายประเด็นที่น่าจับตามอง อาทิ ประเด็นเรื่องพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถ้าต้องการเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชน หากได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ ก็ทำให้มีโอกาสที่ใกล้ชิด และสร้างผลงานให้ประชาชนในพื้นที่ได้ เพื่อเป็นฐานเสียงให้กับเวทีการเลือกตั้งระดับชาติต่อไป 

          อีกประเด็นหนึ่ง คือ อดีตพรรคการเมืองบางพรรคที่เคยครอบครองพื้นที่นั้น อาจจะไม่ได้ครอบครองพื้นที่เดิมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากคนกลุ่มรุ่นใหม่ที่มีการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร โดยพิจารณานโยบาย และการแก้ปัญหาในพื้นที่มากกว่าการพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาในอดีต นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจว่า หากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง หากสามารถทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ก็จะส่งผลจะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้ ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งผู้บริหารทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ สามารถนำประสบการณ์ไปบริหารงาน และประสานโครงการ รวมทั้งการพัฒนายุทธศาสตร์ท้องถิ่นได้ โดยต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ด้วย รวมทั้งต้องเข้าใจเป้าหมายของการพัฒนาท้องถิ่น ที่ไม่ใช่การวางโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทด้วย ต้องทำให้เกิดชุมชนเมืองขนาดเล็กที่ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ โดยไม่ต้องเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ และมองว่า ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้สมัคร คือ นโยบาย ผลงานที่ผ่านมา นโยบายและมุมมองในการพัฒนาพื้นที่ 

          ร.ต.อ. มนูญ วิเชียรนิตย์ กล่าวถึง บทบาทของ กกต.ในการสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคมนั้น เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง เพื่อมอบสิทธิ์ให้ผู้แทนไปทำหน้าที่แทนประชาชน รวมถึงกล่าวถึงข้อเสียของการไม่ใช้สิทธิ์ และการไม่ได้แจ้งล่วงหน้า กับกกต.ถึงเหตุผลการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะทำให้ต้องเสียสิทธิหลายประการ อาทิ สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ สิทธิในการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง เป็นต้น รวมทั้งพูดถึงภาพรวมในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีประเด็นสำคัญหลายประการที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ผู้สมัครที่ต้องการหาเสียงในนามพรรคการเมือง ต้องมีหนังสือขออนุญาตจากพรรคการเมืองนั้นๆ ก่อน รวมทั้งการหาเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ก็ต้องศึกษาระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของประเด็นการหาเสียง การพาดพิงผู้อื่น และช่วงเวลาที่หาเสียงด้วย ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน ควรศึกษาข้อมูลและเตรียมพร้อมก่อนไปเลือกตั้ง 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า