ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมใหญ่ รวมทีมเสริมพลังศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ประจำปี 2566


          สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมใหญ่ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2566 ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

          โดยวันที่ 14 กันยายน 2566 ได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต้อนรับประธาน กรรมการและสมาชิกศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และเปิดการประชุม ในวาระสำคัญของการประชุมนี้ คือสถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สามารถจัดตั้งศูนย์ฯ ได้ครบทั้ง 76 จังหวัด ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนและสร้างความเป็นพลเมืองสู่พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้เป็นเครือข่ายของสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปสู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เข้มแข็งและยั่งยืน

          และมีพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐให้แก่ นายอำนวย พลหล้า ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งในปีนี้ โครงการเสริมสร้างพลังพลเมือง : คนใกล้เหมือง จังหวัดแพร่ (Citizen Empowerment for Healthy Democracy : KPI-CE) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่แบไรต์ ณ บ้านอิม ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ จากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดแพร่ ได้รับเลิศรางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับดี 

          ยังกล่าวแสดงความยินดีกับศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง จังหวัดสกลนคร และจังหวัดเลย ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขารางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded)  และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 สาขารางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) พร้อมกล่าวให้กำลังใจกับทุกศูนย์ฯ ให้มีผลงานที่สู่สาธารณะยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

          หลังจากนั้นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายพิเศษ หัวข้อ “25 ปี สถาบันพระปกเกล้ากับการพัฒนาประชาธิปไตย” ความในส่วนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างเยาวชนอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเป็นพลเมืองในประเทศ วิธีการสร้างการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสร้างนโยบายจะทำให้เยาวชนเป็นคนที่แก้ปัญหาเพื่อสังคมประเทศได้ ที่สำคัญสถาบันฯ ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ที่จัดตั้งได้ครบทั้ง 76 จังหวัด จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง 

          สิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าต้องการสร้างผู้นำ ก็เพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมให้มีคุณค่า ด้วยธรรมาภิบาลและไม่เลือกปฏิบัติ มุ่งเน้นให้เป็นผู้นำที่จุดประกาย ด้วย KPI CDG ได้แก่ Citizenship Democracy และ Good governance ซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างคนให้เกิดความพลเมืองเป็นนักพัฒนาประชาธิปไตยและเป็นผู้นำที่ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม 

          ทั้งนี้ได้ ดร.ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และ นางสาวสุพรรณี งามวุฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ มาให้ความรู้ความเข้าใจใน “แนวทางการหนุนเสริมความเข้มแข็ง ความเป็นพลเมือง และการเมืองภาคพลเมือง ของสถาบันพระปกเกล้า” เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ มีสมรรถนะสูง ยังมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จในพื้นที่ ของศูนย์ฯ แต่ละแห่ง เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างได้

          ซึ่งในวันที่ 15 กันยายน 2566 นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มาตอกย้ำความเข้าใจในยุทธศาสตร์การพัฒนาความเป็นพลเมืองศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เป้าหมายและตัวชี้วัด ร่วมกัน โดยมี ดร.ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และ นายชูศักดิ์ ปัญญามูล นักบริหารโครงการชำนาญการ จัดกระบวนการระดมความคิดเห็น จากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ในการพัฒนาโครงการและแผนปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนพลเมืองและการเมืองภาคพลเมือง ปี 2567 สู่ความสำเร็จ  


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า