ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 25 หัวข้อ “เสริมพลังประชาธิปไตย: บทบาทของซอฟต์พาวเวอร์กับการมีส่วนร่วมของพลเมือง” (Revitalizing Democracy: Roles of Soft Power and Citizen Engagement)


          4 พ.ย.66 วันที่สองของงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ

          ดังนี้ เริ่มต้นด้วย การทบทวนบทสรุปจากการอภิปราย พลังซอฟต์พาวเวอร์และการนำเสนอวิดีโอ “การประยุกต์ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในไทย: บทเรียนจากสถาบันพระปกเกล้า”ประกอบด้วย โครงการ KPI New Gen Project  , Social Vaccine ที่เชียงคาน , ศิลปะเปลี่ยนเมืองชุมชนละงู ,โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมซื่อตรงโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และพลังพลเมือง บ้านอิมแก้วิกฤตเหมืองแร่แบไรต์

          ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของซอฟต์พาวเวอร์ กับ ประชาธิปไตยไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต โดยนำตัวอย่างกิจกรรมในอดีตของไทยมาเรียบเรียงในเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่เพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรักษาเอกราชปกป้องอธิปไตยและความเป็นชาติด้วยซอฟต์พาวเวอร์หรือพลังโน้มน้าวใจในมิติต่างๆ ได้แก่

  • ซอฟต์พาวเวอร์กับมรดกประชาธิปไตยของไทย
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการรักษาอธิปไตยของไทย
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการเสริมสร้างความเป็นอารยประเทศ
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการพัฒนาคุณภาพประชาชน
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการทดลองระบอบประชาธิปไตย
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการต่อต้านระบอบเผด็จการ
  • ซอฟต์พาวเวอร์กับการกำหนดนโยบายรัฐบาล 

กล่าวโดยสรุปว่า “ซอฟต์พาวเวอร์เป็นอำนาจที่นุ่มนวล เป็นอำนาจที่โน้มน้าวใจที่จะดึงให้ผู้คนมาเห็นชอบ    ชื่นชม ปฏิบัติคล้อยตาม และนำไปเผยแพร่ต่อ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย 

          การสรุปและเสนอแนวทางการเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์และการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

          ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศ ซอฟต์พาวเวอร์เป็นได้ทั้งพลังที่เป็นศิลปวัฒนธรรม สิ่งที่ดีงาม คำสอนที่มีมาในอดีตหรือสิ่งที่เรียนรู้กันมาและพลังใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนนโยบายของรัฐ ซึ่งพลังเหล่านี้จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ต้องเกิดจากกลไกเชิงสถาบัน ภาคประชาสังคม ผู้นำทางความคิด กลุ่มคน ปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

          ข้อสรุปจากการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่อาจกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ แต่ต้องมีการผลิตซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยความดี (benignity) ความจริง (brilliance) และความงาม (beautiful) โดยสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ได้ดี เรียกว่า กระบวนการตาสว่าง (Wokeism) โดยผลิตซอฟต์พาวเวอร์ผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิด การมีจิตสาธารณะเป็นอาสาสมัคร การทำงานเครือข่าย การศึกษาของพลเมือง กระบวนการสร้างความเป็นชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อ และสื่อสังคมออนไลน์

          สุดท้ายสิ่งที่ต้องการจะเห็นคือ เกิดลมหายใจเดียวกันและไม่มีพรมแดน เพราะเกิดจากพลังดึงดูดที่สร้างสรรค์และมีพลังศรัทธา ทำให้เกิดการมีค่านิยมร่วมกัน นั่นคือ ค่านิยมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกัน 

          ฉะนั้น เราต้องมีการบริหารจัดการซอฟต์พาวเวอร์ที่เหมาะสม เพราะซอฟต์พาวเวอร์มีทั้งในแง่บวกและลบ และอาจถูกนำไปใช้ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้อำนาจแข็ง (hard power) และพลังของพลเมือง ประกอบการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ร่วมด้วย เพื่อให้เกิด smart power ฉะนั้น เราจึงต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเกิดสันติสุข

          การแสดงปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 โดย อาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 

          ความสำคัญว่า  “การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ไม่อาจอาศัยการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองและข้าราชการเพียงลำพัง แต่ต้องจับมือกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ในฐานะพลเมืองผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ สถาบันพระปกเกล้าตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่ประชาชนทุกระดับ เนื่องด้วยพลเมืองคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดพลัง โดยตั้งต้นจากทุนทางสังคมที่มีอยู่ จึงเป็นการดีที่ประเทศไทยมีการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ”เพื่อเสริมประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้วยซอฟต์พาวเวอร์ขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและประชาธิปไตยได้อย่างเป็นรูปธรรม

          อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์เกิดพลังจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาซอฟต์พาวเวอร์ในเชิงวิชาการและเชิงนโยบายอย่างลึกซึ้งต่อเนื่อง ประการแรก ต้องเปิดกว้างเรื่องคำนิยามของซอฟต์พาวเวอร์ ประการที่สอง ประยุกต์ใช้ซอฟต์พาวเวอร์โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และประการที่สามต้องสร้างให้ประชาชนตระหนักในศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆโดยเริ่มต้นจากตนเอง 

          กล่าวโดยสรุป พลังของซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นได้ต้องมี 3 องค์ประกอบประสานกัน คือ ซอฟต์พาวเวอร์ สำนึกความเป็นพลเมือง และประชาธิปไตย 

ท่านสามารถดาวโหลดเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 25 ได้ทางลิงค์
https://drive.google.com/drive/u/2/folders/1bBeVjmTfbkJSCgzFSa11_raqmxuJh5qj

          รับชมการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 ย้อนหลังได้ทางลิงค์
https://fb.watch/o5C-Ozyide/ (ภาษาไทย)

https://fb.watch/o5D139u3uQ/ (ภาษาอังกฤษ)


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า