ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรม หลักสูตรไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก รุ่นที่ 12


          9 พฤศจิกายน 2566 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตร ไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก รุ่นที่ 12 (TAG12) ณ ห้องศักดิเดชน์ภูวไนย สถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร ซึ่ง ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการ และนายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต กรรมการหลักสูตรไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก ร่วมพิธีเปิดหลักสูตรครั้งนี้ด้วย 

          โดยมี นางณัชชาภัทร อมรกุล  (รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง) กล่าวรายงานถึงหลักสูตรที่ได้ดำเนินมาทั้งหมด 11 รุ่นแล้ว ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ มีนักศึกษาผ่านการศึกษาจำนวน 1,194 คน โดยต้องการให้ผู้เข้ารับการศึกษาพัฒนาแนวทางที่มุ่งเน้นเรื่องการเชื่อมโยงอาเซียนและประเทศไทยเข้ากับเศรษฐกิจการเมืองโลก การเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความรู้ความเข้าใจในสภาพบริบทใหม่ในปัจจุบัน  สามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ และสามารถปรับใช้ในหน่วยงานองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางและนโยบายที่เหมาะสมของประเทศต่อไป

          โดยอาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เข้ามาร่วมเป็นพลังสำคัญของประเทศ จากการศึกษาหลักสูตรนี้ ด้วยศักยภาพประกอบการเพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้ผ่านหลักสูตร ที่จะสามารถสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งโรจน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนได้ และบรรยายพิเศษเรื่อง “ความคาดหวังและคุณลักษณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า (KPI-CDG)” โดยเชื่อมโยงถึงยุทธศาสตร์ของสถาบันพระปกเกล้า ในการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้นำทางความคิดและมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ด้วยคุณลักษณะความเป็นนักศึกษาสถาบันพรปกเกล้าใน 3 มิติ ได้แก่ C – Citizenship “สร้าง” สำนึกพลเมือง  D – Democracy “ส่งเสริม” ประชาธิปไตย  และ G– Good Governance “เสริมพลัง” ธรรมาภิบาล

  • C – Citizenship การสร้างสำนึกพลเมืองนั้น เป็นการสร้างรากฐานประชาธิปไตยในคุณสมบัติ 5 ด้าน คือ 1.มีเหตุผล 2.มีวินัย 3.ซื่อสัตย์ 4.รับผิดชอบ และ 5.มีจิตสาธารณะ
  • D – Democracy การส่งเสริมประชาธิปไตย มีมิติที่หลากหลายเป็นสากล ครอบคลุมด้านสิทธิเสรีภาพอย่างสันติวิธี ด้วยหลัก 1.หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน 2.หลักเสรีภาพ 3.หลักเสมอภาค 4.หลักภราดรภาพ
  • G– Good Governance การเสริมพลังธรรมาภิบาล ที่ต้องคำนึงถึง 6 หลักสำคัญของธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ได้แก่ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักคุณธรรม 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักการมีส่วนร่วม 5.หลักสำนึกรับผิดชอบ 6.หลักความคุ้มค่า โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการทำงานของภาครัฐ

          ทั้งนี้ การสร้าง KPI-CDG มุ่งหวังให้นักศึกษาเป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ธำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาล และสันติวิธี ที่จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่อไป

          หลังจากนั้น เป็นการให้ข้อมูลการเข้าศึกษาในระบบต่าง ๆ การเข้าถึงข้อมูลหลักสูตร โดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบห้องสมุดสถาบันพระปกเกล้า ให้กับนักศึกษารุ่นนี้ จำนวน 41 คน ที่ประกอบด้วยนักการเมือง ข้าราชการและพนักงานหน่วยงานรัฐ ผู้บริหารจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งหลักสูตรจะดำเนินการเรียนการสอนระยะเวลา 8 เดือน 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า