ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปปร.27ศึกษาดูงานรัฐสภา


          14 ก.พ.67 : นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้การต้อนรับคณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 (ปปร.27) สถาบันพระปกเกล้า พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ภาพรวมกระบวนการนิติบัญญัติ: หน้าที่ อำนาจ และกระบวนงานรัฐสภา” โดยมี ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัดประชุมสัมมนา B1-4 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา 

          ประธานรัฐสภา กล่าวบรรยายพิเศษ ใจความตอนหนึ่งว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สารตั้งต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากเป็นองค์กรที่ตรากฎหมายเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้ เพื่อพัฒนาประเทศชาติไปด้วยดีต่อไป ซึ่งองค์อำนาจนิติบัญญัติต้องเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านกระบวนการนิติบัญญัติ การควบคุมและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐสภาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการตรวจสอบงบประมาณของแผ่นดินให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อความเป็นองค์กรการเมืองหลักของประเทศการที่จะทำให้เกิดความสมดุลได้นั้น รัฐสภาต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่างเข้มแข็ง และนำการแก้ปัญหาให้สังคมได้ เป้าหมาย หรือ สิ่งที่รัฐสภาจะต้องพัฒนาให้เป็นคือ รัฐสภา เป็นที่พึ่งของประชาชน รัฐสภา เป็นพื้นที่ของประชาชน เป็น Safe Zone เป็นพื้นที่ที่ประชาชนสบายใจ สามารถเข้าถึง สามารถคลายความทุกข์ให้ประชาชน สมาชิกรัฐสภา เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ โอกาสนี้ มีข้อเสนอแนวทางในการเสริมสร้างและสนับสนุนกระบวนการนิติบัญญัติ อาทิ  

1. การพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย

2. พัฒนากลไกการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยการสนับสนุนให้ สส. ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ 

3. ปรับโครงสร้างส่วนราชการในรัฐสภาให้สนับสนุนภารกิจของรัฐสภา อย่างมีประสิทธิภาพ 

4. พัฒนาศักยภาพและคุณลักษณะของบุคคลในรัฐสภา ให้สนับสนุนภารกิจของรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ 

5. พัฒนาการสื่อสารกับประชาชน 

6. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของรัฐสภาและกระบวนการนิติบัญญัติ และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรากฎหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการตรากฎหมายจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง 

7. สนับสนุนสื่อมวลชนให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐสภาอย่างอิสระ 

8. ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน

9. ส่งเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของรัฐสภาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

#ปปร27 #วิทยาลัยการเมืองการปกครอง #สถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า