ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า จับมือ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมให้ความรู้แก่สมาชิกรัฐสภาและบุคคลในวงงานรัฐสภาในกิจกรรมเสริมสร้างความรู้การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน


วันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ ห้องโถงกลาง ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เกียกกาย ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา พร้อมปาฐกถานำ เรื่อง “สร้างระบบนิติบัญญัติให้สุจริตและโปร่งใส”  ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้กล่าวรายงาน ดูแลภาพรวมของกิจกรรม โดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า  นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าว ถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ Facebook : สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า  Facebook : สถาบันพระปกเกล้า และ Facebook : สำนักงาน ป.ป.ช.

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน : กลไกในการสร้างความสุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ดำเนินรายการโดย นายพิพัฒน์ พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

การอภิปรายให้ความรู้ เริ่มขึ้นด้วยเรื่อง “กระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” โดย พันตำรวจตรี ชัชนพ ผดุงกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ โฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายณรงค์ฤทธิ์ คิดเห็น พนักงานวิชาการจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เป็นผู้ดำเนินรายการในการอภิปรายครั้งนี้

ในส่วนของความพิเศษภายในงาน โดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะเป็นการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ร่วมกันทำ Workshop และ Q&A เรื่อง “สารพันปัญหากับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ซึ่งสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสถาบันวิชาการในกำกับของประธานรัฐสภา มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและส่งเสริมค่านิยม ของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และในปัจจุบันนี้ บุคคลในวงงานนิติบัญญัติซึ่งมีตำแหน่งเป็นนักการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่บุคคลในวงงานรัฐสภา ตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภานั้นมีจำนวนมากที่มาจากภาคเอกชนและไม่คุ้นชินกับระบบราชการ ส่งผลให้ขาดความเข้าใจในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ต้องปฏิบัติทั้งก่อนการดำรงตำแหน่งและภายหลังการออกจากตำแหน่ง ประกอบกับในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ริเริ่มให้มีการดำเนินการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ถึงแม้จะเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจในวิธีการใช้งานของระบบอย่างถ่องแท้ 

ดังนั้น วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้จึงมีเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมไปถึงสร้างการตระหนักรู้ในความสำคัญและความจำเป็นของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและโปร่งใส และให้สามารถจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนสามารถกรอกรายละเอียดในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งได้รับความสนใจ บุคคลในวงงานรัฐสภา และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 

สามารถติดตามการสัมมนาดังกล่าวได้ทาง Link ด้านล่างนี้

https://fb.watch/r5SiBHWMf9/?mibextid=Nif5oz

#สำนักส่งเสริมวิขาการรัฐสภา #สถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า