ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

บรรยายพิเศษ หัวข้อ เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร ?


      วันที่ 22 ส.ค.61 สถาบันพระปกเกล้าจัดบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร ?” ภายใต้โครงการ KPI Public Lecture ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ แลร์รี ไดมอนด์ นักวิชาการอาวุโส Hoover Institution และ Freeman Spogli Institute for International Studies, Stanford University ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ 

      ในช่วงเช้าเป็นการกล่าวต้อนรับ และเปิดการบรรยาย โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า จากนั้น เป็นช่วงการแนะนำวิทยากร ดำเนินรายการโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าและช่วงท้ายของกิจกรรม ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มอบของที่ระลึกให้กับศาสตราจารย์ แลร์รี ไดมอนด์ ด้วย

      ส่วนหนึ่งของใจความสำคัญการบรรยายของ ศาสตราจารย์ แลร์รี ไดมอนด์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยมีสัญญาณถดถอยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เพราะแม้ว่าจำนวนประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้งจะมีเพิ่มขึ้น และเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศในโลก แต่ประเทศเหล่านี้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีที่แท้จริง

       เหตุผลที่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยเพียงรูปแบบไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพเพราะประเทศประชาธิปไตยจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น หลักนิติธรรมหย่อนยาน และไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้
ทางออกจากวิกฤติประชาธิปไตย มี 5 เรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
1.) การให้ความช่วยเหลือ และใช้การทูต เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาธิปไตย เช่น สนับสนุนเครือข่ายที่มุ่งต่อต้านการคอร์รับชั่น ใช้การทูตในการปกป้องสิทธิมนุษยชน 
2.) การต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลทุกรูปแบบที่มารูปคราบของการแผ่อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติ การฟอกเงิน และการแทรกแซงการตัดสินใจของรัฐบาล โดยบุคคลที่เคยมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง 
3.) สร้างพลังต้านทานกับอำนาจของมหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยต้องไม่ยินยอมหรือถึงขั้นลงโทษนักการเมืองที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนา รวมถึงการต่อสู้กับการโจมตีทางไซเบอร์ ที่กำลังคุกคามระบบการเลือกตั้งของประเทศ 
4.) ลดการผูกขาดทางเทคโนโลยีของบรรษัทข้ามชาติหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง พิจารณาเพิ่มงบวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอง 
5.) ปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ โดยใช้เครื่องมือที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนพร้อมไปกับการปฏิรูปสื่อสังคมออนไลน์ และให้การศึกษาความเป็นพลเมืองแก่ประชากรยุคอินเตอร์เน็ต


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า