ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เวทีเสียงเพื่อสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ถึงพรรคการเมือง


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.00 – 17.30 น. สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ร่วมกับ New TV TNN24 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่าย Peace Survey และเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ทุกเครือข่ายร่วมกันจัดงานเสวนาสาธารณะ "เสียงเพื่อสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ถึงพรรคการเมือง" (Voices for the Deep South) ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก

เวทีเสียงเพื่อสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ถึงพรรคการเมือง (Voices for the Deep South) เริ่มจากการกล่าวเปิดงานเสวนาโดยนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า โดยในการเสวนาได้นำเสนอในแนวทางที่หลากหลายเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจากการเสนอว่าควรมีการรับฟังเสียงและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เน้นการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่พรรคการเมือง รัฐบาลควรผลักดันเรื่องการสร้างสังคมสันติสุขให้เป็นวาระแห่งชาติ และควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดสันติสุขได้อย่างไรในจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงพัฒนา กฎหมาย ระบบโครงสร้าง กลไกการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล และควรมีพื้นที่กลางสำหรับการแสดงความเห็นได้อย่างเสรี และมีระบบคุ้มครองปกป้องไม่ให้ถูกคุกคามจากฝ่ายใด ควรมีระบบการคุ้มครองกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มเปราะบาง) ไม่ให้ถูกทำร้ายและเป็นเหยื่อ ส่วนกระบวนการในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นต้องเปิดกว้าง มีความต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสามารถนำข้อมูลมาจัดกลุ่มได้เป็นจำนวน 8 ประเด็นหลัก คือ

1. การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเน้นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่ 
2. การกระจายอำนาจ เพื่อให้การพัฒนามาจากล่างสู่บนและเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่และวิถีวัฒนธรรม
3. การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีการยกระดับเศรษฐกิจโดยยึดโยงกับบริบทในพื้นที่
4. สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบาง คนชายขอบอำนาจ ชนกลุ่มน้อย 
5. การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับพื้นที่และอัตลักษณ์ ไม่ใช้มาตรฐานจากส่วนกลางเป็นเกณฑ์กลาง 
6. การพัฒนาโดยมีศาสนาและวิถีวัฒนธรรมเป็นแกน โดยสร้างกลไกให้เกิดการขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ในวัฒนธรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เปิดพื้นที่ทำให้เข้าใจร่วมกัน
7. สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เกิดการพูดคุยและเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน
8. การทำความจริงให้ปรากฏและให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิด


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า