ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เสวนาสาธารณะ หัวข้อ “เสียงเพื่อความเป็นพลเมือง” (Voices for the Citizenship)


สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันนโยบายศึกษา ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ร่วมจัดงานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “เสียงเพื่อความเป็นพลเมือง” (Voices for the Citizenship) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง โดยโครงการเสวนาฯ นี้ เป็นหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะในโครงการ “เปล่งเสียงเพื่อประเทศไทย” (Voices for Thailand)

ในงานเสวนามีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหน่วยงานเครือข่ายของสถาบันพระปกเกล้า หน่วยงานประชาสังคมและสิทธิมนุษยชน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม โดยในช่วงต้นได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงาน จากนั้น ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้เป็นผู้นำการอภิปราย เรื่อง “สถานการณ์ความเป็นพลเมือง สิทธิพลเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศไทย” เพื่อฉายภาพรวมเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับพลเมืองผ่านผลการศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า จากนั้น เป็นการเสวนาเพื่อร่วมกันนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งวิทยากรประกอบด้วย อาจารย์สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม, อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , อาจารย์ทิพย์พาพร ตันติสุนทร สถาบันนโยบายศึกษา , อาจารย์ ดร. วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล , นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ เยาวชน-หัวหน้าสำนักการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล สมพงษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพระปกเกล้า และนางสาวจิระวรรณ สิทธิศักดิ์ ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง จ.ร้อยเอ็ด ดำเนินการเสวนาโดยนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า

จากการเสวนามีข้อสรุปร่วมกันเบื้องต้นว่า ความเป็นพลเมือง คือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการปลูกฝังความเป็นพลเมืองตั้งแต่ วัยเด็ก ด้วยการปฏิวัติหลักสูตร/ระบบการศึกษาความเป็นพลเมือง (civic/citizenship education) ให้สร้างทักษะ ความรู้ และทัศนคติของความเป็นพลเมือง ควบคู่กับการดำเนินงานของโรงเรียนพลเมืองภายใต้ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองประจำจังหวัด นอกเหนือจากนั้นยังมีความสำคัญของการสร้างโครงสร้างและกลไกในสังคมที่จะสร้างบรรยากาศและส่งเสริมด้วยการแก้ไขกฎหมาย ปรับโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพของพลเมือง เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในการเข้าถึงการศึกษา และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ฯลฯ เปิดโอกาสให้คนชายขอบ รวมถึงเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ หรือการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เพื่อกระตุ้น หล่อหลอมความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นในระดับรากฐานของสังคม และนโยบายของพรรคการเมือง และรัฐบาล ควรเป็นนโยบายที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน และภาคพลเมือง


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า