ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


สถาบันพระปกเกล้า จัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ครบรอบวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง และนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า จัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาในระดับมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๗ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๖๙) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (พ.ศ. ๒๔๗๘ ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนสวรรคตเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะมีพระชนมายุ ๔๘ พรรษา พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การฉลองพระนครครบ ๑๕๐ปี รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ยังทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรครั้งแรกในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศาสนา พระราชดำริที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ "การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย" โดยทรงพระกรุณาให้มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานแก่ชาวไทยทั้งมวล แม้จะยังมิได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปลายปีพ.ศ. ๒๕๔๔ สถาบันพระปกเกล้าจึงมีความเห็นว่า สมควรที่จะเสนอให้มี วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น สถาบันฯ จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมี นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เป็นประธาน คณะทำงานชุดดังกล่าวนี้ มีมติว่า "สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ ๗ คือ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ต่อมาวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๓๐ พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ"

พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องในวโรกาสวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า