ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

อบรมนวัตกรรมท้องถิ่น ประจำปี 2562


              เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.62 วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรม “นวัตกรรมท้องถิ่นสำหรับสุดยอดรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2562” เพื่อให้บุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีทักษะการบริหารงานเชิงรุก และมุ่งพัฒนาท้องถิ่นรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งสามารถพัฒนานวัตกรรมการบริหารงานได้อย่างต่อเนื่องหลากหลาย อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้า มีความร่วมมือและมีการพัฒนาระหว่างพื้นที่ และต่อยอดสู่การเป็นเครือข่ายหลักในการพัฒนาประเทศ โดยมีการอบรมระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน 2562 ณ ห้องภูวนาทประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งในวันแรกของการอบรม ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) บรรยายเรื่อง “ทิศทางท้องถิ่นไทยภายใต้สถานการณ์โลกและไทย หลักการแนวทางการขับเคลื่อน และข้อพึงระวัง” โดย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายสรุปความว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีนวัตกรรมของตนเอง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดในอนาคต

ส่วนปัจจัยที่ท้องถิ่นต้องคำนึงถึงและมีผลกระทบ คือ

           วิกฤติการณ์ประชาธิปไตยโลก และ Global Disruptive ที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น การแบ่งขั้วทางการเมือง ซึ่งในอดีตแบ่งด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในปัจจุบันแบ่งด้วยช่องว่างระหว่าง Generation โดย New Generation มีความคิดที่ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งมีผลกระทบต่อ Landscape ทางการเมือง เช่น การหายไปของระบบหัวคะแนน แต่แทนที่ด้วยโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

           ความท้าทายคุณค่าประชาธิปไตย หลายๆเรื่องถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะหลักนิติธรรม Rule of Law คือ ความเที่ยงธรรม และผู้ใช้กฎหมายมีความอิสระ แต่บางหน่วยงานของประเทศไทยที่ถูกผลกระทบในเรื่องนี้ เช่น ปปช. และ กกต.เป็นต้น ยุค Disruption คือ บริบททางสังคม การเมือง ที่มีผลกระทบต่อสิ่งใหม่ ทำให้โครงสร้างและกลไกเดิมไม่สามารถบริหารจัดการได้ รวมทั้ง Disruptive Technology เช่น Data Driven Technology , Industrial Economy และ Social Media ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้ความคาดหวังของประชาชนสูงขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและท้องถิ่นต้องมีการปรับตัว ซึ่งหน่วยงานที่ปรับตัวเรื่องการบริการ เช่น กรมการขนส่งทางบก ในเรื่องการต่อภาษีรถยนต์

           นอกจากนั้น ยังเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคม พฤติกรรมการบริโภค และวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย ผลกระทบของ Disruptive Technology ที่มีต่อโครงสร้างทางสังคมนั้น ภาครัฐและท้องถิ่นต้องปรับตัว กระบวนการทำงาน รวมทั้งปรับวิธีการทำงานให้สมดุลต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกด้วย จากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง “นวัตกรรมท้องถิ่นสำหรับสุดยอดรางวัลพระปกเกล้า” โดย นายภควัต อัจฉริยปัญญา (พนักงานฝึกอบรมชำนาญการพิเศษ) บอกเล่าประสบการณ์ การลงพื้นที่ ตรวจประเมินรางวัลพระปกเกล้า และในภาคบ่าย เป็นการบรรยายเรื่อง “นวัตกรรมกับการพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวถึง เทรนด์และแนวโน้มใหม่ๆที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น สังคมผู้สูงวัย ความเป็นสังคมเมือง และสังคมเมืองที่ต้องการการบริหารจัดการที่ดี สิ่งที่นักบริหารเมืองต้องตระหนัก เช่น เรื่องพัฒนาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของสังคมเมือง เทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการทำงานของท้องถิ่น คนไทยมีแนวโน้มที่เสพข้อมูลข่าวสารบนโลกดิจิทัลมากขึ้น เช่น Generation Y เป็นวัยที่ใช้เทคโนโลยีมากที่สุดถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน และโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด คือ Facebook รองลงมาคือ Line และ Youtube เป็นต้น 

           ซึ่งหลายๆปัจจัยเหล่านี้ก็เป็น Disruptive Technology ที่หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องปรับกระบวนการการทำงานให้รองรับกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ใช้รูปแบบการอบรม ทั้งในส่วนของการศึกษาอบรมในห้องเรียน การอภิปราย แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น และการศึกษาดูงานเพื่อให้สัมผัสกับนวัตกรรมการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่นมุ่งหวังว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงาน โดยเฉพาะการดำเนินงานที่มีความเป็นเลิศ Best Practice และพัฒนาแนวคิดและสิ่งที่ได้รับมาสังเคราะห์ต่อยอดการดำเนินงานในพื้นที่ของตนต่อไป


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า