ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เสวนา “นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง”


สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนา “นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง”

วันที่ 17 มิ.ย.62) สถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และสำนักวิจัยและพัฒนา จัดเสวนาระดมความคิดเห็น “นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง” เริ่มต้นการเสวนาด้วย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ (รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า) กล่าวแนะนำกิจกรรรมในเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยเข้าสู่เวทีเสวนา ซึ่งเปิดประเด็นศัพท์เด่นเลือกตั้ง Mentimeter โดย 

          อ.ณัชชาภัทร อมรกุล (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า) เสนอประเด็นศัพท์เด่นในการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ขณะนี้เกิดนาฏกรรมทางการเมือง คือ เป็นเวทีแห่งความฝัน จากกระแสดราม่าของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมให้สนใจมากกว่าสถาบันทางการเมือง โดยศัพท์เด่นทางการเมืองที่เกิด ไม่ว่าเป็นคำว่า งูเห่า บัตรเขย่ง กกต. ธนาธร อีช่อ ฟ้ารักพ่อ ลุงตู่ ตู่พบธร คะแนนเอื้ออาทร นั่งร้านเผด็จการ เผด็จการ ประชาธิปไตย อ.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข (นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า) กล่าวเสริมว่า Mentimeter เป็นการสำรวจความคิดเห็น กระแสของการสำรวจการเลือกตั้ง ทำให้มองเห็นทิศทาง และการประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาจะทำให้ได้ทราบความคิดเห็นของ first time voter ได้ จากนั้น เป็นเวทีเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยนักวิชาการ ซึ่งมีความเห็นดังนี้

  • ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ (นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า) กล่าวว่า Facebook เป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน 18-35 ปี โดยคนหนึ่งจะมีมากกว่าหนึ่งแอคเคาท์ ซึ่งได้ถูกใช้ประโยชน์ทางการเมืองและการเลือกตั้งจากพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนมาก ยอดฟอลโลวมีความสำคัญมากกว่ายอดไลก์ สรุปว่า ผู้คนในสังคมโซเชียลมีเดีย ให้ความสนใจในตัวนักการเมืองมากกว่าพรรคการเมือง โดยเพจที่มีอัตราเติบโตสูงสุด คือ เพจของพรรคอนาคตใหม่ และเพจของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพจมีอัตราการเติบโตลดลงมากที่สุดคือ เพจของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพจของพรรคการเมืองที่มีคนฟอลโลวมากกว่ากดไลก์ มากที่สุด คือ เพจของพรรคอนาคตใหม่ เพจที่มีคนฟอลโลวน้อยกว่ากดไลก์ มากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ เพจของนักการเมืองที่คนฟอลโลวมากกว่ากดไลก์ มากที่สุด เพจของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รองลงมาคือนายธนาธร และเพจที่มีคนฟอลโลว น้อยกว่ากดไลก์ มากที่สุดคือเพจของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์นอกจาก สาระที่ต้องพัฒนาแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะต้องปรับตัวในการคิดเรื่องการใช้สื่อโซเชียลอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีทีมมืออาชีพเข้ามารับผิดชอบในการคิดกลยุทธ์ในเรื่องต่างๆ และทุกพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งต้องเข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ (คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กล่าวถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาคจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในส่วนของภาคเหนือพบว่า เพจของพรรคอนาคตใหม่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง คือ การได้พบปะเจอะเจอผู้คนแบบหน้าต่อหน้า โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ ในการติดต่อพบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่จะไม่มีการนำเสนอข้อความหรือความคิดเห็นผ่านทางแอปฯ ไลน์ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าว ติดต่อสื่อสาร มากกว่าการใช้เพื่อสร้างอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง การหาเสียง การลงพื้นที่หาเสียงแบบเดิมตามบ้านในชุมชนชนบท จึงยังมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียง ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่และสร้างความสัมพันธ์ได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะมีฐานเสียงผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ที่เข้มแข็งกว่าพรรคการเมืองอื่น ขณะที่พรรคพลังประชารัฐพยายามสร้างนวัตกรรมหาเสียงสร้างแบรนด์ของพรรคผ่านคลิปต่างๆ ให้เป็นที่จดจำของคนในพื้นที่ ทั้งการพูดภาษาท้องถิ่น การแต่งกายแบบท้องถิ่น แต่ยังไม่มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากนัก ส่วนบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น พบว่า ไม่ได้มีผลต่อการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยยังเข้มแข็ง เช่นเดียวกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแม้จะชอบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมากกว่า แต่เมื่อเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวก็ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม

  • ผศ.ชาญณวุฒิ ไชยรักษา (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร) กล่าวว่า การเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกว่า พรรคอนาคตใหม่ยังคงใช้การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียกับชนชั้นกลาง นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 คนในเมืองจะรู้จักพรรคอนาคตใหม่ผ่านหัวหน้าพรรคการเมือง โดยนายธนาธรจะมีผลต่อคะแนนเสียงที่ได้มาของผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่ป้ายหาเสียงจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนในแบบที่ผ่านมา การซื้อเสียงแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยเฉพาะก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งในบางเขตเท่านั้น
  • ดร.ประเทือง ม่วงอ่อน (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) กล่าวผ่านเวทีเสวนาระดมความเห็น "นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง" จัดโดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับวิทยาลัยการเมืองการปกครองและสํานักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับนวัตกรรมการหาเสียงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่าใน 10 เขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยใช้ social media ในการหาเสียงมากกว่าพรรคการเมืองอื่น โดยพรรคอนาคตใหม่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเน้นการขายตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่จะใช้โซเชียลมีเดียหาเสียงกับผู้สมัคร ส.ส.แต่ละราย
  • ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล (คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา)กล่าวถึง นวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีว่า มีนวัตกรรมในการสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นในพื้นที่ จากการที่พรรคพลังชลเดิมที่เข้าสังกัดในพรรคการเมืองนี้ เป็นผลจากกระแสการสืบทอดอำนาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีผลต่อการตัดสินใจในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะการย้ายพรรคของผู้สมัครสส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย อย่าง "ตระกูลเนื่องจำนงค์" เดิมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ไปสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ เพราะมองออกว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเกิดภาพโกลาหลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา  ส่วนกรณี พรรคอนาคตใหม่ได้สร้างปรากฎการณ์ในพื้นที่ชลบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 5 เขต 6 และ เขต 7 ซึ่งเป็น ส.ส.หน้าใหม่และคนในพื้นที่บางส่วนไม่รู้จักบุคคลเหล่านี้ โดยการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบนั้น คะแนนเลือกตั้งถูกเทไปให้เขตเลือกตั้งเหล่านี้ โครงสร้างกับความโชคดีที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบนั้น จึงทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้ประโยชน์  ขณะที่บ้านใหญ่ในพื้นที่ คิดไม่ถึงว่าพรรคอนาคตใหม่จะประสบความสำเร็จ และที่สำคัญกลยุทธ์ของนายธนาธรที่ประสบความสำเร็จ คือการใช้ Social Media และการนำเสนอนโยบายแนวคิดการปฏิรูปกองทัพ ที่ถูกใจกลุ่มคนรุ่นใหม่

  • คุณธนากร วงษ์ปัญญา (Content Creator, The Standard) ช่วงแรกพรรคอนาคตใหม่ไม่มีหัวคะแนนในพื้นที่ ไม่มีเครือข่าย ในส่วนของการเมืองท้องถิ่นพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงในพื้นที่แล้ว ซึ่งจะส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ที่พรรคมีสส.อยู่แล้ว
  • ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กล่าวว่า ปรากฏการณ์การพลิกผันในการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ โดยพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. 12 คน พรรคอนาคตใหม่ ได้ส.ส. 9 คน พรรคเพื่อไทย ได้ส.ส. 9 คน โดยภาพรวมคะแนนของพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนกว่า 1.2 ล้านคะแนน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ได้ 1.4 ล้านคะแนน ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตจะได้ผู้ว่าฯ มาจากฝ่ายของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคะแนนเสียงจะไม่แตกต่างจากพรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทยที่ต้องแข่งขันกันอย่างแน่นอน โดยเงื่อนไขจากชัยชนะของ ส.ส.ในกรุงเทพฯส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานการเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. โดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็น ส.ก.มาก่อน ทำให้เกิด ส.ส.หน้าใหม่จำนวนมากหรือ First time winner 12 เขตเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐได้รับชัยชนะ จึงบ่งบอกได้ถึง “ภาพจริงของกรุงเทพมหานครที่ว่า การเมืองของกรุงเทพฯ กำหนดจากความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ก.กับพื้นที่”  ขณะที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไม่ใช่มนุษย์ที่ปราศจากชนชั้นและมุมมทางสังคมด้านอื่นๆ ซึ่งต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ โดยเฉพาะโปรไฟล์หรือประวัติของผู้สมัคร

  • ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ภาคใต้ ประชาชนไม่ได้เลือกเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมาจากปัญหาเอกภาพภายในพรรคเอง โดยเฉพาะการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งส่งผลมาถึงการจัดโผผู้สมัคร ส.ส. ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลคือการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม 

    นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมารดาประชารัฐของพรรคพลังประชารัฐ มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงนโยบายการแก้ไขปัญหายางพาราของพรรคภูมิใจไทยในเขตเลือกตั้งที่ 7 ของจังหวัดสงขลาที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้ ส.ส.ที่ชนะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ การหาเสียงแบบเก่ายังคงมีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งการแจกใบปลิว รถแห่หาเสียง การจัดเวทีปราศรัย การหาเสียงแบบใหม่ผ่าน social media ทั้ง Facebook และ twitter ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ใช้สื่อประเภทนี้อย่างประสบความสำเร็จ โดยเชื่อมโยงจากสื่อโซเชียลระดับชาติมาสู่ในระดับพื้นที่ ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนอย่างเหลือเชื่อในหลายเขตเลือกตั้ง

  • ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เกิด Digital Disruption และ New Media รวมทั้งไม่เกิดการปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง การแบ่งแยกระหว่างสังคมเมืองและชนบทน้อยลงด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร และการคมนาคม ทำให้เกิดความจำเป็นและนวัตกรรมการหาเสียงเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป เช่น บางพรรคเอาความรู้ด้าน Big data มาใช้อย่างชัดเจน และการใช้ความรู้ด้านการตลาดดิจิทัล โดยพบว่า สื่อ Facebook เป็นสื่อที่พรรคอนาคตใหม่ใช้น้อยมากสำหรับคนรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นใหม่นิยมใช้ Intragram และ twitter การหา Social Influencer เป็นหัวคะแนนออนไลน์ทำให้เกิดการขยายผลและมีอิมแพค รวมทั้งการหาการตลาดของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเลือกคอนเทนต์ให้เหมาะสม และส่งนโยบายสาธารณะของพรรคออกไปยังกลุ่มเป้าหมาย ความล้มเหลวทางการตลาดของบางพรรคคือ ไม่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน นโยบายไม่ชัดเจน มีการผลิตสื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสื่อโดยใช้อินโฟกราฟฟิก ทำให้คนเข้าใจง่าย และเล่าเรื่องได้  ในภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง กับ Data Analysis

  • คุณพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ (บรรณาธิการข่าว The Matter) กล่าวว่า ผู้ใช้ facebook จะอยู่ในวัยทำงานหรือ first jobber ส่วนเด็กรุ่นใหม่เลือกใช้สื่อทวิสเตอร์มากขึ้น และไลน์จะเป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

    สื่อหลักในการสื่อสารยังเป็น facebook เป็นหลัก และต้องเข้าหากลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น พรรคอนาคตใหม่ กราฟความนิยมขึ้นสูงสุดประกาศตัวพรรค กระแส “ฟ้ารักพ่อ” โดยใช้กระแสที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชัดเจนในการสื่อสารโดย Social media ตอนนี้สื่อทวิตเตอร์มีกติกาบางอย่างที่ควบคุมผู้ใช้งานมากขึ้น

    ขอขอบคุณ ข้อมูลข่าวจาก : Voice tv.

    ภาพข่าว : จินห์จุฑา ลิ้มสวัสดิ์

    เนื้อหาข่าว : วรรัตน์ ชัยชนะ

    #KPI#สถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า